ยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน

ยุทธศาสตร์ชาติมีทั้งสิ้น 6 ด้าน ประกอบด้วย

1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง สร้างความสามัคคี สร้างงาน สร้างอาชีพ และยุติสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ภายในปี 2569 เพื่อบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับและทุกมิติ ควบคู่ไปกับการป้องกันแก้ไข และพร้อมรับมือกับภัยคุกคาม
สาธารณภัย ขจัดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างจริงจัง รวมทั้งปัญหาด้านความมั่นคงที่มีอยู่ในปัจจุบันและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และเป้าหมายของสหประชาชาติ

2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยตั้งเป้านำพาประเทศไทยให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ภายในปี 2579 การนำพาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ ปานกลาง ประชาชนกินดีอยู่ดี ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ขยายโอกาสในเวทีโลก โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน เสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ ให้ใช้เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็น “ผู้ผลิตได้ ขายเป็น” พัฒนาระบบขนส่ง เพื่อลดต้นทุน และวางยุทธศาสตร์ให้การเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายใต้บริบทของไทยที่สอดคล้องกับกติกาสากล

3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ที่เน้นสร้างคนพัฒนาจิตใจ ปัญญา และกาย ตั้งเป้าเด็กไทยเรียนดี มีคนเก่ง ชีวิตยืนยาว ประเทศไทยมีเด็กที่เรียนดี มีโอกาสทางการศึกษา มีทักษะในศตวรรษที่ 21 พร้อมกับมีคนในวัยทำงานที่มีทักษะสูงสอดรับกับการเข้าสู่เศรษฐกิจในยุคดิจิทัล และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมีการปลูกฝังค่านิยม และวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมชุมชน สถานศึกษา การเปลี่ยนบทบาทครู ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต การปฏิรูประบบการเก็บภาษีและรายจ่ายเพื่อให้บริการด้านสุขภาพ และใช้สื่อในการส่งเสริมสุขภาพ ให้กับประชาชนทุกช่วงวัยอย่างมีประสิทธิภาพ พอเพียง เป็นธรรม และยั่งยืน รวมทั้งใช้เทคโนโลยีพัฒนาระบบดูแลสุขภาพ สำหรับพื้นที่ห่างไกล

4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำทุกด้าน ตั้งเป้ารายได้คนรวยสุดกับคนจนสุด ต่างกันไม่เกิน 15 เท่า จากปัจจุบันที่รายได้แตกต่างถึง 22 เท่า “การสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ กระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามา เป็นกำลังของการพัฒนาประเทศ ในทุกระดับเพื่อความสมานฉันท์และเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเองและการจัดการตนเองเพื่อสร้างสังคมคุณภาพ”

5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาสิ่งแวดล้อมทั้งทางบก
ทางน้ำ และอากาศ โดยตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียน ในการผลิตไฟฟ้า ร้อยละ 40 และให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในอาเซียนภายในปี 2579 การน้อมนำศาสตร์ของพระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยึดหลักสามประการ คือ มีความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มาเป็นหลักในการจัดทำ

6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เน้นบริการภาครัฐกระชับ ฉับไวปลอดทุจริต ตั้งเป้าประชาชนร้อยละ 80 พึงพอใจและมีคุณภาพอยู่แถวหน้าของโลก สังคมไทยต้องมีการบริหารราชการแผ่นดินโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีการทำงานแบบบูรณาการ ระบบองค์กรเปิดกว้าง เชื่อมโยงปรับบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ และภาคส่วนอื่น ๆ ในการบริหารจัดการด้วยการเพิ่มบทบาทให้ภาคส่วน
อื่น ๆ ร่วมดำเนินการบนพื้นฐานของการมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบ ตรวจสอบได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *